ปรับชีวิต พิชิตโรคกระดูกพรุน
ISBN : 9786161836191
โดย : รองศาสตราจารย์อาศิส อุนนะนันทน์
สำนักพิมพ์ : Amarin Health
อื่นๆ : 112 หน้า
หากคุณกำลังเป็นหรือมีพฤติกรรมเหล่านี้
- เป็นผู้หญิงอายุ 65 ปี หรือเป็นผู้ชายอายุ 70 ปีขึ้นไป
- หมดประจำเดือนเร็ว (ก่อนอายุ 45 ปี)
- ขาดฮอร์โมนเอสโทรเจนนานเกิน 1 ปี เช่น ตัดมดลูกและรังไข่ออกแล้วทั้งสองข้าง
- มีรูปร่างผอมบาง (ดัชนีมวลกายน้อยกว่า 19 หรือ 20 กิโลกรัมต่อตารางเมตร)
- คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคกระดูกพรุน หรือพ่อแม่มีประวัติเคยกระดูกข้อสะโพกหัก
- เคลื่อนไหวร่างกายน้อยหรือมีภาวะที่ต้องนอนติดเตียงเป็นเวลานาน
- รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด
- ใช้ยาสเตียรอยด์
- รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมน้อย
- ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นประจำ
- ดื่มน้ำอัดลม ชา หรือกาแฟมากเกินไป
- สูบบุหรี่
หากคุณตอบเพียงข้อใด้ข้อหนึ่ง ให้รีบไปพบหมอเพื่อตรวจคัดกรองโรคกระดูกพรุน เพราะโรคกระดูกพรุนรู้เร็ว ดูแลไว ป้องกันได้
การรู้จักสังเกต ตรวจสอบ และดูแลกระดูกของตนเองตั้งแต่อายุยังน้อยเป็นเรื่องสำคัญที่ควรทำอย่างถูกวิธี โดยคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาโรคกระดูกพรุนเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่และวัยชราที่อาจกลายเป็นเรื่องร้ายแรงในอนาคตได้
โรคกระดูกพรุนเป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของกระดูก ผู้ที่เป็นโรคนี้จะไม่ทราบอาการจนกว่าจะมีกระดูกหักและเข้ารับการรักษาจึงทราบว่าเป็นโรคกระดูกพรุน ที่ผ่านมาเรามักเข้าใจว่าคนที่จะป่วยเป็นโรคกระดูกพรุนต้องเป็นผู้หญิงสูงวัยและหมดประจำเดือนเท่านั้น แต่ปัจจุบันพบว่าโรคกระดูกพรุนเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิต และพบผู้ป่วยได้ในกลุ่มคนรุ่นใหม่และในเพศชายเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นโรคกระดูกพรุนจึงไม่ใช่โรคของผู้สูงวัยเพศหญิงอีกต่อไป เพราะปัจจุบันมีปัจจัยด้านการดำเนินชีวิตมาเป็นตัวกระตุ้นการเกิดโรคกระดูกพรุนเพิ่มมากขึ้นในทุกกลุ่มคน เช่น การดื่มชาหรือกาแฟมากกว่า 3 แก้วต่อวัน ดื่มน้ำอัดลมมากกว่า 4 กระป๋องต่อวัน ร่างกายไม่ถูกแสงแดดเลยในช่วงวัน ดังนั้นเราจึงควรรู้จักดูแลและบำรุงกระดูกของตนเองตั้งแต่อายุยังน้อยเพื่อป้องกันและชะลอการเกิดกระดูกพรุนในอนาคต